ด่วน! ศาลออกหมายจับ “เปรมชัย” และบุคคลรวม 17 คน วิศวกร – ผู้ควบคุมงาน – กิจการร่วมค้า เอี่ยวคดีตึก 30 ชั้น สตง.ถล่ม
จากกรณีสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 เวลาประมาณ 13.20 น.ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวโดยมีจุด ศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมาร์ แรงสั่นสะเทือนถึงประเทศไทยและในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งผลทำให้อาคาร ก่อสร้างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร มีความสูง 30 ชั้น ทรุดตัวถล่มลงมา เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และ เสียชีวิตจำนวนมากนั้น
ความคืบหน้าคดีนี้ วันนี้ (15 พ.ค.68) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลได้พิจารณาออกหมายจับ นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการบริษัท อิตาเลียนไทย และบุคคลรวม 17 คน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 227 และมาตรา 238 กรณีอาคารก่อสร้าง สตง.ถล่ม
สำหรับการออกหมายจับสืบเนื่องจาก พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผบช.น. มีคำสั่งให้แต่งตั้ง คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน โดยมี พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ เป็นรองหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ทำการสอบสวนในคดีดังกล่าว
จากการตรวจสอบพยานหลักฐานทั้งเอกสารและพยานบุคคล พบว่าแบบแปลนการก่อสร้างไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวง และมาตรฐาน กลุ่มกำแพงปล่องลิฟต์ของอาคาร ไม่ได้อยู่ตรงกลางอาคาร แต่ชิดขอบด้านหลัง ทำให้ศูนย์กลางของการบิดตัวของอาคารเยื้องไปจากศูนย์กลางอาคาร เมื่ออาคารแกว่งตัวจากแผ่นดินไหว ทำให้กำแพงปล่องลิฟต์และเสาที่ฐานถล่มเกือบพร้อมกัน ทำให้อาคารทั้งหลังตกลงมาในแนวดิ่งอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้มีการส่งผลตรวจปูนซีเมนต์ ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ว่ามีมาตรฐาน ตรงตามค่า KSC ซึ่งเป็นหน่วยวัดมาตรฐาน ที่ใช้วัดความแข็งแรงของคอนกรีต ผลการตรวจปรากฏว่าความแข็งแรงของคอนกรีต ไม่ได้มาตรฐานตามค่า KSC และ การตรวจสอบเหล็กเส้นที่เก็บได้จากอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ปรากฏว่ามีบางส่วนไม่ เป็นไปตามแบบเช่นกัน และ จากการตรวจลายมือชื่อของ นายสมเกียรติ ชูแสงสุข ผู้เสียหายที่ถูกปลอมลายมือชื่อลงไป ในฐานะวุฒิวิศวกร จากกองพิสูจน์หลักฐานยืนยันว่า ตัวอย่างลายมือชื่อที่ส่งเปรียบเทียบ มีคุณสมบัติการเขียน รูปลักษณะของลายมือชื่อแตกต่างกันกับตัวอย่างลายมือชื่อของ นายสมเกียรติ ชูแสงสุข จึงลงความเห็นว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของคนเดียวกัน
จากหลักฐานข้างต้นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนจึงได้แบ่งกลุ่มผู้กระทำความผิดออกเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบ ควบคุม หรือทำการก่อสร้าง ซ่อมแซมหรือรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือวิธีการอันพึงกระทำมีผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องและเป็นผู้กระทำความผิดดังนี้
กลุ่มที่ 1 บริษัทผู้ออกแบบ
– บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และ บริษัท ไมนฮาร์ท (ประทศไทย) ทำสัญญาระหว่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน โดยผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล 1 ราย และมีกลุ่มวิศวกรผู้ลงนามในแบบแปลนซึ่งเป็นวิศวกรโครงสร้าง จำนวน 5 ราย รวมผู้กระทำความผิดทั้งหมด 6 ราย
กลุ่มที่ 2 บริษัทผู้รับจ้างควบคุมการก่อสร้าง
กิจการร่วมการค้า PKW จำนวน 1 รายในฐานะส่วนตัว เนื่องจากเป็นผู้แทนลงนามในสัญญา ซึ่งทั้ง 3 บริษัท ตกลงยินยอมรับผิดร่วมกัน และ แทนกันต่อผู้ว่าจ้างในทุกกรณี
โดย 3 บริษัท ประกอบด้วย
1.บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด
2.บริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด
3.บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด
รวมผู้กระทำความผิดทั้งหมด 5 ราย
กลุ่มที่ 3 บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้าง
1.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
2.บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด และ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนกินการร่วมค้า
ITD-CREC
รวมผู้กระทำความผิดทั้งหมด 6 ราย
อย่างไรก็ตามในเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ค้นพบแล้ว จำนวน 89 ราย ได้รับบาดเจ็บสาหัส จำนวน 1 ราย ได้รับบาดเจ็บ 8 ราย สูญหาย 11 ราย จึงได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งหมด 17 ราย ในฐานะนิติบุคคล และ ส่วนตัว ในฐาน “เป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบ ควบคุม หรือ ทำการก่อสร้าง ซ่อมแซมหรือรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือวิธีการอันพึงกระทำการนั้น ๆ โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 227 , 238